ข่าว สงขลา

บ้านเดี่ยว ราคา 2 ล้าน-กู้บ้านผ่าน ไม่ได้หมายความว่าจะ ซื้อบ้านไหว

บ้านเดี่ยว ราคา 2 ล้าน-กู้บ้านผ่าน ไม่ได้หมายความว่าจะ ซื้อบ้านไหว

บ้านเดี่ยว ราคา 2 ล้าน-กู้บ้านผ่าน ไม่ได้หมายความว่าจะ ซื้อบ้านไหว บ่อยครั้งที่เราเห็นคนใกล้ตัวคิดจะซื้อบ้าน จากที่ทีแรกตั้งงบประมาณไว้ 3 ล้านบาทก็คิดว่าพอสมควรแล้ว แต่พอเขาศึกษาบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ เข้าโครงการนี้ออกโครงการนั้น วิ่งวนไปอยู่สักพักหนึ่ง งบประมาณซื้อบ้านที่ตั้งไว้ทีแรกที่ 3 ล้านบาท ก็ขยายขึ้นไปเป็น 4-5-6 ล้านตามลำดับในระยะเวลาอันสั้น แล้วก็ไปหยุดอยู่ตรงงบประมาณสูงที่สุดที่พอจะกู้ธนาคารผ่านได้ โดยลืมไปเลยว่าตัวเองตั้งงบไว้ทีแรกเพียง 3 ล้านบาท … ยิ่งกู้บ้าน 100% จับเสือมือเปล่ายิ่งดี เพราะยังสามารถเก็บเงินก้อนเอาไว้ซื้อเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งเข้าบ้านได้ หรือบางรายหนักไปกว่านั้น ขอกู้เกินราคาบ้าน โดยส่วนเกินยอมให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยแพงหน่อยไปเป็น​ “ค่าตกแต่ง” จะได้ไม่ต้องเสียเงินก้อนในการตกแต่งบ้านด้วย ด้วยเหตุผลที่ว่า “ฉันกู้ผ่าน”

จริงๆประโยคที่ว่า “ฉันกู้ผ่าน” กับ “ฉันซื้อไหว” มันไม่ได้มีความหมายเหมือนกันนะครับ หลายๆคนชอบคิดไปเองว่าสองประโยคนี้มีความหมายเดียวกัน หรือไม่ก็หลงอยู่ในประโยคแรกแต่ไม่ได้คิดถึงประโยคที่สอง ด้วยเมฆหมอกที่มาบังตาจากความอยากได้อยากมีเกินกำลัง ของมันแน่อยู่แล้วครับว่า บ้านเดี่ยวราคา 5 ล้านบาทส่วนใหญ่ย่อมดีกว่าทาวน์เฮาส์ราคา 3 ล้านบาทอยู่แล้ว … “กู้ผ่าน ผ่อนได้ เดี๋ยวเงินเดือนก็ขึ้น ได้โบนัสมาก็โปะ ปีสองปีแรกรัดเข็มขัดหน่อย ปีต่อๆไปก็ผ่อนสบายๆแล้ว” คงจะเป็นเสียงในใจของคนหลายๆคน ที่ลืมคิดไปว่าหากเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ไม่เพิ่ม บริษัทที่ทำอยู่ลดพนักงาน หรือไม่จ่ายโบนัสจะทำอย่างไร? … ถ้ามีเงินเก็บ สามารถหยิบมาใช้ได้ หรือขยันทำงานมากขึ้นรับงานพิเศษ หาทางเอาตัวรอดได้ก็แล้วไป แต่ถ้าวินัยทางการเงินไม่พอ หรือเศรษฐกิจหดตัวแรงๆ เงินช๊อต อาจจะนำมาสู่การยึดทรัพย์เพื่อชำระเงินกู้ได้นะครับ ไม่เช่นนั้นเราคงไม่เห็นธนาคารเอาบ้านมือสองมาขายทอดตลาดกันอยู่บ่อยๆหรอก … หลายคนยิ่งไปกว่านั้น กดเงินสดดอกเบี้ย 20-28% มาใช้ โดยไม่รู้ว่ายิ่งเป็นการขุดหลุมฝังตัวเอง

เรามาลองรู้จักคำว่า “พอดี” กันบ้างดีไหมครับ? แต่ก่อนที่ผมจะพาไปรู้จักนั้น เดี๋ยวผมจะหยิบยกตัวเลขทางสถิติมาให้เห็นกันก่อน เพื่อที่จะได้เข้าใจภาพรวมคร่าวๆของบ้านเมืองเรา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ผมตัดสินใจเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมา … ข้อมูลประกอบ รายงานนโยบายการเงิน เดือนมีนาคม 2557 โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย

Family

นี่เป็นตัวเลขล่าสุดของ หนี้สินภาคครัวเรือนต่อ GDP ซึ่งแสดงให้เห็นว่าครอบครัวไทยมีความสามารถกู้เงินมาใช้จ่ายได้เก่งมาก ภายใน 3 ปีก็ทำให้หนี้สินครัวเรือนพุ่งจาก 63% ก่อนปี 2554 จนเฉียด 80% ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2556

NPL Car

ต่อมาเป็นตัวเลข NPL หรือหนี้เสียจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (ซื้อแล้วผ่อนไม่ไหว) ที่มีแนวโน้มในขาขึ้นชัดเจน จาก 10,000 กว่าล้านบาทพุ่งไปเกือบแตะ 25,000 ล้านบาทในเวลาเพียง 3 ปี

ดูตัวเลขแล้วก็หนาวๆร้อนๆเนอะ หลายๆคนเห็นแล้วก็อาจจะโทษนู่นโทษนี่ ต่อว่านโยบายรถคันแรก ต่อว่าบัตรเงินสด ต่อว่าโฆษณาที่ทำให้ดูเหมือนว่าการกู้เงินเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ขับรถเข้าไปปุ๊บได้เงินออกมาปั๊บ ยังมีรถใช้อยู่ แต่ลืมต่อว่าไปอย่างหนึ่ง … “ตัวคนกู้” นั่นเอง … ของอย่างนี้มันตบมือข้างเดียวไม่ดังหรอกครับ สถาบันการเงินหลายๆแห่งชอบโทรมาชวน ให้ทำบัตรบ้าง กดเงินบ้าง กู้รถ กู้บ้านเกินกำลังบ้าง แต่ถ้าตัวคนกู้ไม่เอาด้วยเสียอย่าง เขาก็ไม่มีสิทธิ์มาบังคับให้คุณจับปากกาเซ็นชื่อลงในเอกสาร ธุรกรรมทางการเงินก็คงจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าสาเหตุหนึ่งคงจะมาจากการที่หลายๆคนมีความรู้ในเรื่องนี้น้อยเกินไป ว่าใช้จ่ายอย่างไรเรียกว่า “ไหว” และใช้จ่ายอย่างไรเรียกว่า “ไม่ไหว”

การที่เราจะหาคำว่า “พอดี” ได้นั้น เราก็ต้องมารู้จักความหมายของ “ฉันกู้ผ่าน” กับ “ฉันซื้อไหว” เสียก่อน

  • ฉันกู้ผ่าน หมายความถึง จำนวนเงินที่ธนาคารคิดว่าสามารถทำกำไรจากคุณในความเสี่ยงที่เขายอมรับได้ (ไม่ใช่คุณยอมรับได้)
  • ฉันซื้อไหว หมายความถึง จำนวนเงินที่คุณสามารถจ่ายได้โดยไม่สร้างเดือดร้อนต่อตนเองและคนรอบข้าง

เงินกู้ก็เหมือนมีด ใช้ดีๆก็เกิดประโยชน์ ใช้ผิดก็อาจจะเฉือนทำร้ายตัวเองรวมถึงคนที่อยู่รอบๆเราได้ด้วย ดังนั้นธนาคารพาณิชย์จึงถูกตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำในการปล่อยสินเชื่อขึ้นมา จากตัวเลขที่เรียกว่า “อัตราส่วนรายได้ต่อภาระจ่ายชำระหนี้” หรือ DSCR: Debt Service Coverage Ratio ซึ่งคำนวนจากการเอาเงินได้มาหารภาระที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน เช่นเงินเดือน 50,000 บาท ผ่อนชำระหนี้ 10,000 บาท ก็เรียกว่ามี DSCR = 5 เท่า โดยตัวเลขนี้ในเหตุการณ์ทั่วไปจะถูกกำหนดไม่ให้ต่ำกว่า 2 เท่า ก็คือเงินเดือน 50,000 บาท ผ่อนชำระหนี้ได้สูงสุด 25,000 บาท นั่นเอง

DSCR

ทีนี้เรามาดูอัตราเฉลี่ยของประเทศไทยกันบ้างนะครับ ตรงนี้เป็นตัวเลขที่รวมรวบยอดประชากรทุกฐานะตั้งแต่มหาเศรษฐีจนถึงชนชั้นกลางที่สามารถกู้บ้านผ่านได้ ปรากฏว่ามีอัตราส่วนรายได้ต่อภาระจ่ายชำระหนี้ (DSCR) อยู่ที่ 4.4 เท่าโดยเฉลี่ย คิดง่ายๆก็คือ มีเงินเดือน 44,000 บาท ผ่อนชำระหนี้ 10,000 บาท เหลือ 34,000 บาท เอาไว้ใช้จ่ายในแต่ละเดือนรวมถึงจ่ายภาษีรายได้ส่วนบุคคลด้วย ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างเหมาะสม สามารถใช้จ่ายกันได้อย่างสบายๆ ไม่เกินตัว

สำหรับบางคนไม่ใช่อย่างนั้นนะสิครับ สมมุติว่านายเปี๊ยกมีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือน (600,000 ต่อปี) อยากได้ทาวน์เฮาส์ราคา 2 ล้านบาท ผ่อน 20 ปี ดอกเบี้ย 6% ก็จะอยู่ประมาณ 15,600 บาทต่อเดือน เหลือใช้ 34,400 บาทต่อเดือน (คิดเป็น DSCR = 3.2 เท่า) – คำนวณสินเชื่อด้วยโปรแกรมจากธนาคารอาคารสงเคราะห์

2m

แต่พอเปี๊ยกดูบ้านไปๆมาๆ อ่านรีวิวจาก ThinkofLiving.com แล้วก็เห็นว่าข้างๆโครงการนี้ก็มีบ้านเดี่ยวอยู่ห่างไปไม่ไกล ในราคา 3.2 ล้านบาท ผ่อน 20 ปี ดอกเบี้ย 6% ก็จะต้องจ่าย 24,900 บาทต่อเดือน เหลือใช้ 25,100 บาทต่อเดือน อัตราส่วน DSCR ลดลงเหลือ 2 เท่าเศษ ซึ่งเปี๊ยกเองก็สามารถกู้ผ่านได้อยู่

3m

สายตาที่เคยมองทาวน์เอาส์ก็ถูกความฝันของบ้านเดี่ยว 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ พร้อมสวนรอบข้างมาแทนที่ ลืมไปเลยว่าตัวเองเคยตั้งงบไว้ไม่เกิน 2 ล้านบาทเพราะ “กู้บ้านเดี่ยวผ่าน” ก็เลยเทใจมาที่บ้านที่ใหญ่กว่า ตั้งใจว่าจะรัดเข็มขัด ลดค่าใช้จ่ายอย่างอื่นเอา

บังเอิญเปี๊ยกลืมไปว่าเงินเดือนแต่ละเดือนก็ต้องถูกหักภาษีไปนะ ต้องส่งประกันสังคมด้วยนะ หากเดือนไหนป่วยก็ต้องไปหาหมอด้วยนะ ประกันรถยนต์ก็ต้องจ่ายทุกปีนะ … แล้วพออยู่บ้านเดี่ยวค่าใช้จ่ายการดูแลบ้านก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ไหนจะดูแลรักษาต้นไม้ ตัดหญ้ารอบบ้าน จ่ายค่าส่วนกลางที่มักจะแพงกว่าโครงการทาวน์เฮาส์ทั่วๆไป … ยิ่งไปกว่านั้นก็ไม่ได้คำนึงถึงเหตุการณ์สุดวิสัย ที่เปี๊ยกไม่อาจคำนวณได้ ยกตัวอย่างเช่นปัญหาเศรษฐกิจโลก อุบัติเหตุ หรือเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่มีเงินก้นถุงเหลือมาใช้จ่ายในส่วนนี้

บ้านนั้นจัดเป็นการลงทุนก็จริงอยู่ เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากขึ้นก็จริงอยู่ แต่เราก็ไม่ต้องคิดไปว่าเราจะอยู่บ้านที่เราจะซื้อนี้ไปจนตายนะครับ … คนส่วนใหญ่มักคิดอย่างนั้น แต่แท้จริงแล้วบ้านสามารถขายเปลี่ยนมือและไปหาที่ใหม่ได้ตลอดเวลา ตราบใดที่เรามีสตางค์พอก็สามารถขยับขยายได้ … แต่สิ่งที่จะทำให้เรามีสตางค์ไม่พอนั้น ก็คือ “ดอกเบี้ย” คนเรากู้ธนาคารมักจะลืมเรื่องดอกเบี้ย หรือเงินจ่ายเปล่าๆนั้นไปเลย

  • ทาวน์เฮาส์ 2 ล้านบาท ผ่อน 20 ปี ดอกเบี้ย 6% ผ่อนเดือนละ 15,600 บาท รวมต้องจ่ายทั้งหมด 3.744 ล้านบาท เป็นดอกเบี้ย 1.744 ล้านบาท
  • บ้านเดี่ยว 3.2 ล้านบาท ผ่อน 20 ปี ดอกเบี้ย 6% ผ่อนเดือนละ 24,900 บาท รวมต้องจ่ายทั้งหมด 5.976 ล้านบาท เป็นดอกเบี้ย 2.776 ล้านบาท

คิดหยาบๆ ปีแรก 3.2 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6% ตกเดือนละ 16,000 บาท … นี่คือเงินที่เสียไปฟรีๆนะครับ ไม่ได้ลดต้นนะ แต่เป็นส่วนกำไรของธนาคารต่างหาก

ผมเข้าใจว่าทุกคนอยากได้บ้านในฝัน แต่ถ้าเราซื้อบ้านอย่างมีสติอยู่ด้วยความพอดี ปัญหาการเงินหลายๆอย่างก็คงจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแล้วธนาคารเขาก็ไม่ได้มาเดือดร้อนกับคุณด้วยนะครับ ดอกเบี้ยวิ่งทุกวัน ขนาดน้ำท่วมกรุงเทพฯปี 54 หลายคนขอประนอมหนี้หยุดผ่อนได้ 3 เดือน แต่ดอกเบี้ยก็ยังไม่หยุดเดินนะ คิดทุกเม็ด ถ้าผ่อนไม่ไหวก็จับบ้านไปขายทอดตลาด หรือรีไฟแนนซ์ที่ยืดเวลาผ่อนนานขึ้น ให้คุณจ่ายต่อก้อนน้อยลงแต่เขาก็ได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเหมือนกัน

ความพอดีที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละคนนั้นคงไม่ใช่อัตราส่วนใดๆที่คนอื่นเป็นผู้กำหนดขึ้น หรือเป็นสัดส่วนค่าเฉลี่ยประชากร มันแทนกันไม่ได้ครับ เพราะบริบทต่างกัน แต่ละคนมีภาระไม่เท่ากัน มีลักษณะการใช้ชีวิตแตกต่างกัน มีความพอใจในความมั่นคงไม่เท่ากัน ดังนั้นเกณฑ์ที่ดีควรจะเป็นเกณฑ์ที่ไม่ได้กำหนดลงไปอย่างเฉพาะเจาะจง … อย่างเช่นคำถามที่ผมชอบใช้

หากคุณมีความคิดแม้แต่แว๊บเดียวว่า “ฉันจะจ่ายไหวไหม?” นั่นแหละครับ สรุปได้เลยว่า “คุณจ่ายไม่ไหว” แต่กำลังหาเหตุผลมาสนับสนุนความเกินพอดีของตนต่างหาก

Comments

แสดงความคิดเห็นที่นี้

Powered by Facebook Comments

More in ข่าว สงขลา

เก้าอี้สตูล

เก้าอี้สตูล เบาะนั่ง

adminธันวาคม 15, 2023
bar in Bangkok

SUUP ARI BAR ใจกลางย่านอารีย์ 

adminธันวาคม 3, 2023

ร้านจำหน่ายและติดตั้งเบรก RePower

adminพฤศจิกายน 12, 2023
สินเชื่อโฉนดที่ดิน

โฉนดครุฑสีอะไร ยื่นกู้ได้ ?

adminพฤศจิกายน 11, 2023

AP Brake ชุดเบรกรถยนต์คุณภาพจากแบรนด์ AP Racing นำเข้าจากสหราชอาณาจักร

adminกันยายน 14, 2023
ทำฟัน พิษณุโลก

คลินิกทันตกรรมพิษณุโลก ให้บริการโดยหมอฟันผู้เชี่ยวชาญ

adminกรกฎาคม 17, 2023

Hair Volume ร้านทำผม บางแค

adminมิถุนายน 18, 2023

วิธีการเลือกชั้นวางสินค้า rack ให้เหมาะกับการใช้งาน

adminพฤษภาคม 8, 2023

วีธีการเลือก โต๊ะประชุม ให้เหมาะกับการใช้งาน

adminเมษายน 4, 2023